การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา

การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา Ethnographic research

โดย ยรรยง สินธุ์งาม

ถ้าพูดถึงการวิจัย ผู้คนโดยทั่วไปจะนึกถึงภาพ ของ ตัวเลข และวิธีการทางสถิติ ที่ยุ่งยาก น่าปวดหัวซึ่งนั่นคือ การวิจัยในเชิงปริมาณ (Quantitative research ) ที่มุ่งนับจำนวน เป็นสถิติ เพื่อจุดมุ่งหมายไปสู่การอนุมาน ( Inference ) ศึกษาแนวโน้ม( Trend ) ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ให้ข้อมูล เพื่ออธิบายไปถึงประชากรทั้งหมด บางครั้งไม่มีความสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในสังคม ทำให้ ตอบปัญหา ที่แท้จริงไม่ได้ครบถ้วนไม่ตรงจุด จึงทำให้แก้ปัญหาในสังคมไม่ได้ เช่น ปัญหานักศึกษาขายตัว ปัญหานักเรียนยกพวกตีกัน จากตัวอย่าง

การนำเอาวิธีการทางสถิติไปศึกษาในเรื่องดังกล่าว คงไม่ได้ คำตอบที่แท้จริง จึงทำให้มี การวิจัยเชิงคุณภาพ เกิดขึ้น ที่ผ่านมา การวิจัยเชิงคุณภาพ ( Qualitative research ) เป็นเพียงวิธีการชายขอบ (Marginal method) ที่ถูกมองว่า ไม่ค่อยมีความสำคัญ จนมาถึงยุคปัจจุบัน การวิจัยเชิงคุณภาพ กลับเป็นแนวทางการวิจัยที่ท้าทายและมีความสำคัญยิ่ง ต่อทาง สังคมศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ จิตวิทยาสังคม ศึกษาศาสตร์ รัฐศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ ทางด้านธุรกิจ และการพัฒนาต่างๆ เพราะการวิจัยเชิงคุณภาพ มุ่งทำความเข้าใจพฤติกรรม รวมไปถึงปฏิสัมพันธ์ ของสิ่งนั้น ในบริบทที่เป็นธรรมชาติ ที่มีการปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไข ของสถานการณ์ และกาลเวลา การตีความ (Interpretation) เป็นไปเพื่อทำความเข้าใจ ผู้คนและชุมชน ในสถานการณ์ นั้นๆ

การวิจัยเชิงคุณภาพ มองคน (ผู้ให้ข้อมูล) ว่า เป็น “คน” ไม่ได้มองว่าเป็น “ตัวเลข” หรือ เป็น “ข้อมูล”จึงให้ความสำคัญ ผู้ที่ถูกศึกษา ยอมรับ อัตวิสัย (Subjectivity) ของผู้ที่ถูกศึกษาว่ามีความหมาย (Meaning)

มีผู้ให้ความหมาย การวิจัยเชิงคุณภาพ ไว้ว่า เป็นกระบวนการค้นคว้าวิจัยที่เกี่ยวกับมนุษย์ ให้ความสำคัญ ในเรื่องการตีความหมาย มุ่งทำความเข้าใจกระบวนการสร้าง และการดำรงบริบทนั้นไว้ ในสถานการณ์ที่เป็นธรรมชาติ วิธีการศึกษาที่มักนำมาใช้กับสังคมมนุษย์ วิธีการหนึ่งก็คือ การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา

(Ethnographic research) ชาติพันธุ์วรรณนา คืออะไร

ชาติพันธุ์วรรณนา เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ สังคม วัฒนธรรม ขนบประเพณี วิถีชีวิตของกลุ่มคนในสังคม

ชาติพันธุ์วรรณนา ตรงกับ คำในภาษาอังกฤษ ว่า Ethnographic พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ-ไทย

ให้ความหมายไว้ว่า “ สาขาหนึ่งของมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ที่มุ่งพินิจศึกษาวัฒนธรรมต่างๆ เชิงพรรณนา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมของชน ในระดับดั้งเดิม ”

ชาติพันธุ์วรรณา เป็นวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ที่มุ่งการพรรณา การตีความหมาย ของกลุ่มคน รวมถึงระบบทางสังคม หรือทางวัฒนธรรม ที่ผู้ศึกษา มีจุดมุ่งหมาย เพื่อทำความเข้าใจแบบแผนพฤติกรรมทางสังคม วัฒนธรรม ขนบประเพณี รวมไปถึงวิถีชีวิต ของกลุ่มคนในสังคมนั้น

ถ้าจะกล่าวถึงลักษณะทั่วไปของ การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnographic research) ก็จะมีลักษณะดังต่อไปนี้

& เป็นการวิจัย ที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ที่ค้นคว้าศึกษาหาข้อเท็จจริง โดยใช้ตัวนักวิจัยเป็นเครื่องมือหลัก ในการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยปราศจากอคติ

& จะให้ความคิดเห็นของ ผู้ที่ให้ข้อมู (Key informants) เป็นสำคัญ

& ดำเนินการวิจัยแบบอุปนัย (Inductive research) คือการศึกษาวิจัยที่เริ่มต้นจาก สิ่งที่จำเพาะเจาะจง เพื่อโยงไปสู่ สิ่งอื่นที่มีอยู่ทั่วไป

& เป็นการสร้างองค์ความรู้ หรือ ทฤษฎี ขึ้นมาจากท้องถิ่น ที่ทำการศึกษา (Grounded theory) เพื่อทำการทดสอบปรับปรุง พัฒนา ให้เหมาะสมเพื่อใช้ภายในท้องถิ่นและในที่อื่นๆ

& ใช้เครื่องมือ ที่ออกแบบมาเก็บข้อมูล กับคน ได้ทุกประเภท

& เลือกกลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการศึกษา แบบเจาะจง

& มีการออกแบบการวิจัย ที่ยืดหยุ่น สามารถปรับได้ตามสภาพความจำเป็น

เทคนิควิธีที่ใช้เก็บข้อมูล มีหลายแบบ

1. การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant observation) มีตัวผู้วิจัย เป็นเครื่องมือสำคัญในการเก็บข้อมูล

2. การสัมภาษณ์เชิงลึก (Deep interview ) การสัมภาษณ์ จะไม่มีโครงสร้าง มีลักษณะเป็นการสื่อสาร สองทาง (Two-way communication) ผู้สัมภาษณ์ต้องใช้ศิลปะและความมีมนุษยสัมพันธ์ อย่างสูง เพื่อให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ มีความกระตือรือร้น ที่อยากจะเล่าเรื่องราว โดยไม่ปิดบัง และเป็นไปอย่างมีความสุข

3. การวิเคราะห์เอกสาร บันทึกต่างๆ

การเลือกกลุ่มตัวอย่าง เพื่อใช้ในการศึกษา แม้จะเป็นกลุ่มที่เฉพาะเจาะจง ก็ควรเลือกกลุ่ม ที่สามารถให้ข้อมูลได้หลากหลาย ทั้งข้อมูลที่ขัดแย้งและข้อมูลที่สนับสนุน แนวคิดการวิจัย ควรใช้การพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้ร่วมด้วย ก่อนการตัดสินใจเลือกกลุ่มตัวอย่าง คือ คำถามในการวิจัย ที่ต้องการหาคำตอบ จุดมุ่งหมาย วัตถุประสงค์ กรอบแนวคิด ทฤษฎี ที่ใช้ในการวิจัย ผู้วิจัยต้องรู้จักข้อมูลเบื้องต้น เกี่ยวกับประชากรเป้าหมายในการศึกษา โดยอาจจะค้นหาข้อมูลจาก เอกสาร วารสาร รายงานการวิจัย สิ่งพิมพ์ต่างๆ จากหน่วยงานราชการ การสนทนากับผู้รู้ หรือ การเข้าไปติดต่อหาข้อมูลเบื้องต้น จากประชากร ในแหล่งข้อมูล ที่อยู่ในขอบข่ายที่เราสนใจ

วิธีการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา ควรใช้เมื่อใด

วิธีวิจัยทุกอย่าง ต่างมีขอบข่ายที่เหมาะสมกับลักษณะของตัวมันเอง แตกต่างกันไป เพื่อให้ทราบถึง สถานการณ์ที่เหมาะสม ในการใช้ วิธีการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา ขอเสนอแนะ เพื่อการพิจารณา ก่อนเลือกใช้วิธีวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา ดังนี้

& เมื่อต้องการหาความรู้ใหม่ๆ หรือ ความรู้ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน เกี่ยวกับกลุ่มชนใดๆ หรือมีการศึกษาในเรื่องดังกล่าว แต่มีข้อมูลจำกัด โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น ผลกระทบของสื่อโทรทัศน์ที่มีต่อสถาบันสังคม

& เมื่อต้องการหาคำอธิบาย พฤติกรรม เหตุการณ์ รวมทั้งปรากฏการณ์ ที่ยังหาคำอธิบายไม่ได้ หรือ คำอธิบายดั้งเดิมที่มีอยู่ ไม่กระจ่างชัด เช่น ปรากฏการณ์ ทำไมการขายเสียง จึงยังคงเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้

& ใช้ร่วมกับการวิจัยเชิงปริมาณ ในลักษณะดังนี้ หนึ่ง ใช้ก่อนที่จะเริ่มการสำรวจ เพื่อหาประเด็นที่จะนำมาตั้งเป็นคำถามการวิจัย ตั้งสมมุติฐาน หรือหาข้อมูลเบื้องต้นก่อนการสร้างแบบสอบถามต่างๆ เพื่อใช้ในการสำรวจ สอง ใช้เมื่อหลังการสำรวจ พบประเด็นปัญหาที่ยังไม่กระจ่างชัด ไม่สามารถอธิบายได้ ด้วย ข้อมูลเชิงปริมาณที่มีอยู่ และ สาม ใช้ควบคู่กับการวิจัยเชิงปริมาณ ในประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจในระดับลึก

& เมื่อต้องการประเมินผลของโครงการต่างๆ เช่น ผลกระทบของนโยบายสาธารณะต่อการศึกษาความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมายต่อโครงการบ้านเอื้ออาทร เป็นต้น

ข้อจำกัดของการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา เมื่อการใช้งานมีขอบเขต การศึกษาด้วยวิธีการดังกล่าวก็ต้องมีข้อจำกัด ซึ่งผู้วิจัยจำเป็นต้องทราบเอาไว้เพื่อหาวิธีการปรับลด ข้อจำกัดหรือช่องว่าง ดังกล่าว เพื่อการวิจัยเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

& ผู้วิจัยต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่อง มานุษยวิทยาวัฒนธรรม อันเป็นวิชาที่ว่าด้วย พฤติกรรมทางวัฒนธรรมของมนุษย์ ต้องรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาทางสังคม

& ผู้วิจัยต้องทุ่มเทเวลาในการวิจัย เป็นเวลานาน อาจใช้เวลาตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 1 ปี หรือมากกว่านั้น ในการเข้าไป ฝังตัว (Burrow) เก็บข้อมูลในชุมชน เป็นการทำงานที่ค่อนข้างโดดเดี่ยวในภาคสนาม

& วิเคราะห์ข้อมูลยาก เนื่องมาจากมีข้อมูลที่หลากหลาย ทั้งปริมาณและชนิดของข้อมูล นักวิจัยต้องอาศัยระยะเวลาและความเข้าใจ เพื่อ กลั่นกรอง ข้อมูลเหล่านั้นในการวิเคราะห์และการตีความ

& ยังขาดเทคโนโลยี ที่เป็นเครื่องมือ เข้ามาช่วยจัดการข้อมูล เนื่องจาก เป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ โปรแกรมคอมพิวเตอร์จึงไม่สามารถเข้าช่วยแบ่งเบาภาระงานส่วนนี้ได้ ผู้วิจัยต้องใช้ ความคิด สติปัญญา ประสบการณ์ของตนอย่างเต็มความสามารถ

วิธีการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของกลุ่มคน ที่สามารถนำไปใช้ในหลายสาขาวิชา อาทิเช่น ศึกษาศาสตร์ สังคมวิทยา สุขภาพอนามัย เศรษฐศาสตร์ ค่านิยม ความเชื่อขนบประเพณีต่างๆ ผู้วิจัยจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางวัฒนธรรม ในการอธิบายและตีความผลของการวิจัย ใช้การสังเกตแบบมีส่วนร่วม โดยมีตัวผู้วิจัย เป็นเครื่องมือหลักที่สำคัญ ในการเก็บข้อมูล และยังสามารถเก็บข้อมูลได้หลายแบบ เพื่อสร้างความถูกต้อง ความตรงประเด็นในเรื่องที่ศึกษา และความน่าเชื่อถือ ของผลการศึกษา วิธีการวิจัยนี้ เหมาะในการแสวงหาความรู้ประเด็นใหม่ๆ หรือ ความรู้ที่ยังมีข้อมูลจำกัด เกี่ยวกับ กลุ่มทางสังคมและวัฒนธรรม ที่เรายังไม่คุ้นเคย นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประเมินโครงการต่างๆ ได้อย่างหยั่งลึก

แม้มีข้อจำกัดของการวิจัย อยู่ตรงที่ ต้องใช้เวลามาก ในการเก็บข้อมูลภาคสนาม ความยุ่งยากในการวิเคราะห์และตีความ ของผลการศึกษา แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ ท้าทาย ให้นักวิจัยยุคใหม่ แสวงหาองค์ความรู้ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ รวมไปถึงการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ทางสังคม ตรงตามความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น.

……………………………………………………….

เอกสารอ้างอิง

ชาย โพสิตา. ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิจัยเชิงคุณภาพ. กรุงเทพฯ. อมรินทร์พริ้นติ้ง : 2549.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา อังกฤษ ไทย. กรุงเทพฯ. ราชบัณฑิตยสถาน : 2543.

สุภางค์ จันทวนิช. การวิเคราะห์ข้อมูล ในการวิจัยเชิงคุณภาพ. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : 2542.

Adkinson, P. and Hammersley, M. Ethnography and Participant Observation. In N. K. Denzin and Y.S. Lincoln (Eds.), 1994.

Boyle, J.S. Styles of Ethnography. In J.M. Morse(Ed.), 1994.

Jessor, R. Ethnographic Methods in Contemporary Perspective. Chicago : University of Chicago Press, 1996.

จาก......... http://www.fridaycollege.org/blog.php?obj=blog.view(98)&PHPSESSID=061b90b88f9449fd9aa828e28a5cc1c6

Sunday, December 17, 2006

ชายขอบนิยม

ชายขอบนิยม

บัณฑิต ปิยะศิลป์ -

กระแสโลกาภิวัฒน์ได้สร้างพื้นที่ชายขอบและชุมชนชายขอบขึ้นมาในวัฒนธรรมโลกสมัยใหม่ (สุริยา สมุทคุปติ์และพัฒนา กิติอาษา , 2542) แนวคิดหลังสมัยนิยมทำให้เกิดแนวคิดชายขอบนิยม (Margilism) ให้ความสนใจที่จะศึกษาแนวคิดชายขอบนิยม ภาวะชายขอบนิยมเกิดจากการพัฒนาไม่ได้ขึ้นโดยธรรมชาติ โดยขั้นตอนของการพัฒนาในโลกแบ่งเป็นลำดับดังนี้ ความทันสมัยในยุโรป (การปฎิวัติอุตสหกรรม ) เกิดลัทธิอาณานิคม ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดรัฐชาติสมัยใหม่ ( ประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมออกมาเรียกร้องเอกราช) การพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมและกระแสโลกาภิวัฒน์ ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศมีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่การเติบโตดังกล่าวส่วนใหญ่จะตกอยู่ส่วนกลางหรือคนบางกลุ่ม ส่วนคนจนที่อยู่ในเมืองและชนบทจะถูกกีดกันให้ออกไปอยู่ข้างนอกระบบในกระบวนการพัฒนาหรือชายขอบ (Marginalized ) ภาวะชายขอบเพิ่มมากขึ้น เพราะกระแสโลกาภิวัฒน์ในโลกปัจจุบันสูงขึ้นเช่นกัน

แนวคิดหลังทันสมัยนิยมที่ให้ความสนใจศึกษาส่วนเล็ก ๆ ในสังคม จึงหันมาให้ความสนใจผู้ที่เป็นชายขอบ เป็นคนกลุ่มน้อยและเป็นคนด้อยโอกาสในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ชาติพันธุ์กลุ่มน้อย คนพิการ ผู้ติดเชื้อเอดส์ พวกรักร่วมเพศ เป็นต้น ซึ่งแตกต่างกับการศึกษาสังคมในยุคทันสมัยนิยมที่ให้ความสำคัญในการศึกษาโครงสร้างสังคมขนาดใหญ่ ภาวะความเป็นชายขอบ พื้นที่หรือคนชายขอบจะมีสภาพเลื่อนไหลตามแนวคิดของแนวคิดหลังทันสมัยนิยม มีการทับซ้อนและหลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะยึดอะไรเป็นศูนย์กลางในการนิยามภาวะชอบขอบ อะไรเป็นประเด็นปัญหาหลักที่เราจะมอง เมื่อเรามองภาวะชายขอบจากปัญหา ปัจจัยหรือจากสังคมหนึ่ง คนที่เป็นชายขอบอาจจะเป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าเรามองจากปัญหา ปัจจัยหรือจากสังคมอีกสังคมหนึ่ง กลุ่มคนที่เป็นชายขอบก็ย่อมเปลี่ยนไป ไม่มีความคงที่แน่นอน

ท้องถิ่นนิยม

ท้องถิ่นนิยมมีความหมายใกล้เคียงกับชุมชนหรือชุมชนนิยม ซึ่งในที่นี้หมายถึง พันธะผูกพันทางอารมณ์ที่มนุษย์ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับกลุ่มมีต่อถิ่นที่อยู่อาศัย ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ประเพณี สัญลักษณ์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ของตนเอง หรืออุดมการณ์ ความคิด ความรู้และปฏิบัติการทางสังคมใด ๆ ทั้งที่เกิดขึ้นจากภายในและภายนอก เพื่อที่จะดิ้นรนต่อรอง ท้าทางและหาทางออกให้กับท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ การเมือง เป็นต้น ซึ่งอาจจะแสดงออกมาโดยการเคลื่อนไหวทางสังคม เช่น กลุ่มสมัชชาคนจน ดังนั้น ท้องถิ่นไม่ได้มีความหมายเพียงหน่วยในการตั้งถิ่นฐาน ตามที่ตั้งตามเขตการปกครองเท่านั้น ท้องถิ่นต่าง ๆ มีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ เป็น ?ชุมทางวาทกรรม? หรือ juncture of discourses (พัฒนา กิติอาษา, 2543) ที่เป็นผลผลิตของปฏิสัมพันธ์ และพลวัตรระหว่างผู้คนในท้องถิ่นกับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว เช่น ธรรมชาติ เพื่อนบ้าน ระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ ร่วมถึงค่านิยม ความเชื่อ กระแสโลกาภิวัฒน์ เป็นต้น ซึ่งกระแสโลกาภิวัฒน์มีส่วนผลักดันให้ผู้คนเริ่มหันกลับมามองวัฒนธรรมและเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ของตนมากขึ้น เพื่อตอบโต้อำนาจและการครอบงำของกระแสโลกาภิวัฒน์

ท้องถิ่นนิยมตามแนวคิดหลังสมัยนิยม มองว่าเป็นตัวแทนของความเป็นจริงที่ซับซ้อน ลื่นไหวและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่น ซึ่งมีประโยชน์ในการวิเคราะห์และการทำความเข้าใจปรากฎการณ์ทางสังคม สามารถช่วยให้เราอธิบายความสัมพันธ์ จุดเริ่มต้นและความแตกต่างหลากหลายทางทางปรากฏการณ์ทางสังคม แนวคิดหลังทันสมัยนิยมให้ความสำคัญกับการศึกษาที่เน้นท้องถิ่นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะท้องถิ่นที่ยังไม่มีใครศึกษา รวมถึงท้องถิ่นที่มีลักษณะพิเศษ และเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการศึกษาทางสังคม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กลุ่มแนวคิดทันสมัยนิยมไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เพราะกลุ่มท้องถิ่นนิยมเป็นพื้นที่การศึกษาที่มีขนาดเล็ก การศึกษาดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้เกิดกระแสท้องถิ่นนิยมอีกทางหนึ่ง

จากแนวคิดทั้ง 3 แนวทาง ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ ชายขอบนิยมและท้องถิ่นนิยม การศึกษาของแนวคิดหลังทันสมัยนิยมเป็นการศึกษาที่มองถึงผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัฒน์ต่อสังคม ซึ่งทำให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่แนวคิดทันสมัยนิยมเน้นการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งเหมือนกับว่ามีความต้องการที่จะให้สังคมพัฒนาไปเป็นสังคมวิทยาศาสตร์ เป็นสังคมที่มีความเจริญก้าวหน้าเช่นในปัจจุบัน (ผู้เขียน)

การประยุกต์ใช้แนวคิดทั้งสามในการวิจัยเพื่อการพัฒนาสังคม

กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ ชายขอบนิยมและท้องถิ่นนิยม เป็นแนวคิดที่เกิดจากแนวคิดหลังทันสมัยนิยม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ต้องการให้นักวิชาการ นักพัฒนา หรือผู้ที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสำคัญกับสิทธิและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นและผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนานั้น (คนชายขอบ) แนวคิดชายขอบนิยมและท้องถิ่นนิยมเป็นการสะท้อนให้เราเห็นปัญหาการพัฒนาประเทศ ที่เน้นการพัฒนาแบบกระแสของประเทศตะวัน คือกระแสโลกาภิวัฒน์ การพัฒนาประเทศตามแนวคิดดังกล่าวไม่ได้ทำให้การพัฒนาประเทศไทยมีความเสมอภาค แต่การพัฒนาดังกล่าวกลับทำให้เกิดกลุ่มผู้ที่ขาดโอกาสในการพัฒนา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมาก หรือกลุ่มคนที่ถูกผลักออกจากระบบการพัฒนากลายเป็นคนชายขอบในที่สุด

การใช้แนวคิดทั้งสามเพื่อใช้ในการพัฒนาสังคม ก็คือการนำไปศึกษาถึงผลกระทบจากการพัฒนาสังคมจากนโยบายของรัฐ ว่าได้ส่งผลให้เกิดภาวะของความเป็นชายขอบต่อคนในสังคมใดบ้าง รวมทั้งการพัฒนาตามนโยบายของรัฐดังกล่าวทำให้ ความเป็นท้องถิ่นได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เมื่อกลุ่มคนที่เป็นชายขอบเหล่านั้นได้รับผลกระทบเขาได้พยายามเอาตัวรอดหรือพยายามสร้างอัตลักษณ์ของตนเองใหม่หรือไม่ และการพยายามต่อสู้ของท้องถิ่นเพื่อให้ความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นกลับคืนมา หรือการพยายามสร้างอัตลักษณ์ของท้องถิ่นในการพัฒนาตนเอง ซึ่งแนวคิดทั้งสามจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดแนวคิดการพัฒนาแบบว่าส่วนร่วมมากขึ้น เปลี่ยนการพัฒนาจากการพัฒนาแบบ top down เป็นการพัฒนาจากชุมชน จากกลุ่มคนที่ควรจะได้รับการพัฒนา เมื่อเกิดการพัฒนาในท้องถิ่นก็จะทำให้การพัฒนานั้นกลายเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

จากhttp://www. thaingo.org

No comments: